
นิทรรศการพิเศษ “จิ๋นซี ฮ่องเต้ : จักรพรรดิองค์แรกของแผ่นดินจีนกับกองทัพทหารดินเผา” ครั้งแรกในประเทศไทย
กรมศิลปากร กำหนดจัดแสดงนิทรรศการพิเศษ เรื่อง “จิ๋นซีฮ่องเต้ : จักรพรรดิองค์แรกของแผ่นดินจีนกับกองทัพทหารดินเผา” (Qin Shi Huang : The First Emperor of China and Terracotta Warriors) ระหว่างวันที่ ๑๕ กันยายน – ๑๕ ธันวาคม ๒๕๖๒ ณ พระที่นั่งศิวโมกขพิมาน พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร เพื่อให้ชาวไทยสัมผัสถึงความยิ่งใหญ่ของจิ๋นซี จักรพรรดิองค์แรกของแผ่นดินจีน ผู้รวบรวมอำนาจให้จีนเป็นปึกแผ่นหนึ่งเดียวกันเมื่อ ๒,๐๐๐ ปีมาแล้ว รวมทั้งเพื่อกระชับความสัมพันธ์อันดีต่อกันระหว่างสาธารณรัฐประชาชนจีนและราชอาณาจักรไทยให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น

ซึ่งโบราณวัตถุชิ้นเยี่ยมที่นำมาจัดแสดงประกอบด้วย หุ่นทหารดินเผา ๔ ตัว รถม้าจำลอง ๑ ชุดและโบราณวัตถุอันเป็นสิ่งของเครื่องใช้มีค่าสำหรับจักรพรรดิในสุสาน รวมทั้งสิ้นจำนวน ๘๖ รายการ ๑๓๓ ชิ้น แบ่งเนื้อหาการจัดแสดงออกเป็น ๔ หัวเรื่อง



4 โซน การแสดง “จิ๋นซี ฮ่องเต้”
- ส่วนที่ 1 พัฒนาการก่อนการรวมชาติ ยุคราชวงศ์โจวตะวันออก
- ส่วนที่ 2 จักรพรรดิองค์แรกของจีน ผู้ผนวกโลกมนุษย์และสวรรค์
- ส่วนที่ 3 เป็นไฮไลต์ของการแสดง สุสานจักรพรรดิ มหาอาณาจักรใต้ภิภพ
- ส่วนที่ 4 สืบสานความรุ่งโรจน์ ยุคราชวงศ์ฮั่น
1. พัฒนาการก่อนการรวมชาติ : ยุคราชวงศ์โจวตะวันออก นำเสนอความเป็นแคว้นต่าง ๆ ที่มีการปกครองเป็นเอกเทศ แต่ก็ได้มีพัฒนาการ การสั่งสมทางเทคโนโลยีและวัฒนธรรม อันเป็นปัจจัยส่งเสริมให้แคว้นฉินกลายเป็นจักรวรรดิที่แข็งแกร่งและสามารถผนวกแคว้นต่าง ๆ เข้าเป็นอาณาจักรเดียวกันในกาลต่อมา ซึ่งโบราณวัตถุที่นำมาจัดแสดง ก็ทำให้เห็นถึงความก้าวหน้าทางด้านโลหกรรมเป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นเครื่องมือเครื่องใช้ ภาชนะสำริด อาวุธและเงินตรา
2. จิ๋นซีฮ่องเต้: จักรพรรดิองค์แรกของจีน : ผู้ผนวกโลกมนุษย์และสวรรค์ จัดแสดงความสำเร็จในการรวมรัฐทั้ง ๗ ให้เป็นอาณาจักรหรือจักรวรรดิหนึ่งเดียว เป็นปึกแผ่นเดียวกัน พร้อมกับการปฏิรูประบบการปกครองแบบรวมอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลาง พัฒนาเทคโนโลยีการสงคราม มีการกำหนดมาตรฐานหน่วยชั่ง ตวง วัด ระบบเงินตรา ภาษาเขียน และพัฒนาระบบสาธารณูปโภคต่างๆ รวมถึงทำการเชื่อมต่อแนวกำแพงดินอัดของแคว้นต่างๆ เพื่อป้องกันการรุกรานจากข้าศึกศัตรูจนกลายเป็นกำแพงเมืองจีนที่มีความยิ่งใหญ่เป็นสิ่งมหัศจรรย์ของโลก
3. สุสานจิ๋นซีฮ่องเต้ มหาอาณาจักรใต้พิภพ : ด้วยความปรารถนาอันแรงกล้าที่จะมีชีวิตเป็นอมตะ ทำให้จิ๋นซีฮ่องเต้เสาะแสวงหายาอายุวัฒนะและสร้างสุสานเตรียมพร้อมสำหรับชีวิตหลังความตายหรือโลกหน้า เรื่องราวของจิ๋นซีฮ่องเต้ ได้รับการบันทึกไว้โดย “ซือหม่าเฉียน” อาลักษณ์สมัยราชวงศ์ฮั่น ได้พรรณนารายละเอียดอันน่าทึ่งของมหาสุสานจักรพรรดิจิ๋นซี และปริศนานี้ได้กระจ่างขึ้น เมื่อมีการค้นพบหุ่นทหารดินเผาครั้งแรก เมื่อวันที่ ๒๙ มีนาคม พุทธศักราช ๒๕๑๗ หรือคริสต์ศักราช ๑๙๗๔ นับเป็นการค้นพบทางโบราณคดีครั้งสำคัญแห่งศตวรรษที่ ๒๐ซึ่งองค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเนสโก ได้ยกย่องและประกาศให้สุสานจักรพรรดิจิ๋นซีเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรม เมื่อพุทธศักราช ๒๕๓๐โบราณวัตถุในส่วนจัดแสดงนี้ จะเป็นส่วนสำคัญของนิทรรศการ เช่น หุ่นดินเผาทหารแม่ทัพแม่ทัพสวมชุดเกราะ พลธนูสวมชุดเกราะนั่งชันเข่า นักรบสวมชุดเกราะ และม้าประกอบรถม้า สมัยราชวงศ์ฉิน พุทธศักราช ๓๒๒ – ๓๓๗ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความสามารถขั้นสูงของช่างและเทคโนโลยีในสมัยนั้น
4. สืบสานความรุ่งโรจน์ : ยุคราชวงศ์ฮั่นแสดงถึงการต่อยอดความรู้มรดกภูมิปัญญาจากราชวงศ์ฉินมาสู่ราชวงศ์ฮั่น ปรากฏผ่านความรุ่งเรืองทางด้านวัฒนธรรม การเมืองการปกครอง สังคม เกษตรกรรม และเทคโนโลยีทางการทหาร ตลอดจนด้านเศรษฐกิจการค้าและการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมระหว่างชาวจีนโบราณกับชาวต่างชาติอีกซีกโลกบนเส้นทางสายแพรไหม จนได้ชื่อว่าเป็นยุคทองของงานศิลปกรรมและอารยธรรมจีนโบราณอย่างแท้จริง

เครื่องประดับรูปเสือ วัสดุ ทองคำ ยืมมาจาก พิพิธภัณฑ์เฉินซาง อายุสมัย จ้านกว๋อ (พ.ศ.๖๗ – พ.ศ.๓๒๒) โบราณวัตถุชิ้นนี้ จัดแสดงอยู่ในโซน ๑ เรื่อง “พัฒนาการก่อนการรวมชาติ ยุคราชวงศ์โจวตะวันออก”

จับประตูรูปสิงโตคาบห่วง วัสดุ ทองและหยก ยืมมาจาก พิพิธภัณฑ์เฉินซาง อายุสมัย จ้านกว๋อ (พ.ศ.๖๗ – พ.ศ.๓๒๒) โบราณวัตถุชิ้นนี้ จัดแสดงอยู่ในโซน ๑ เรื่อง “พัฒนาการก่อนการรวมชาติ ยุคราชวงศ์โจวตะวันออก”

เหอ ใช้สำหรับใส่ของเหลว วัสดุ สำริด ยืมมาจาก พิพิธภัณฑ์หล่งเสี้ยน อายุสมัย ชุนชิว (๒๒๗ ปีก่อนพุทธกาล ถึง พ.ศ.๖๗)
โบราณวัตถุชิ้นนี้ จัดแสดงอยู่ในโซน ๑ เรื่อง “พัฒนาการก่อนการรวมชาติ ยุคราชวงศ์โจวตะวันออก

หู ภาชนะในพิธีกรรมสำหรับใส่ของเหลวสำหรับบรรจุเหล้า
ระเบียบและข้อปฏิบัติในการชมนิทรรศการพิเศษ เรื่อง
“จิ๋นซีฮ่องเต้ : จักรพรรดิองค์แรกของแผ่นดินจีนกับกองทัพทหารดินเผา”
- นิทรรศการพิเศษฯ จัดแสดง ณ พระที่นั่งศิวโมกขพิมาน พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ระหว่างวันที่ ๑๖ กันยายน – ๑๕ ธันวาคม ๒๕๖๒ เวลา ๙.๐๐ – ๑๘.๐๐ น. ทุกวันพุธ – วันอาทิตย์ (ปิดทำการเฉพาะวันจันทร์ – วันอังคาร) สำหรับวันหยุดนักขัตฤกษ์หากตรงกับวันพุธ – วันอาทิตย์ เปิดทำการตามปกติ
- บัตรเข้าชมผู้ถือสัญชาติไทย ๓๐ บาท ต่างชาติ ๒๐๐ บาท จำหน่ายบัตรระหว่างเวลา ๘.๓๐ – ๑๗.๐๐ น.
- พระภิกษุ สามเณร นักบวช ผู้พิการ นักเรียน/นักศึกษาในเครื่องแบบ ไม่เสียค่าเข้าชม สำหรับผู้สูงอายุเกิน ๖๐ ปี แสดงบัตรประชาชนเข้าชมฟรี
- การเข้าชมจัดสรรเป็นรอบ รอบละ ๘๐ คน แต่ละรอบเวลาห่างกันไม่เกิน ๑๕ นาที ทั้งนี้แต่ละรอบสามารถชมนิทรรศการได้ ๔๕ นาที
- สิ่งดังต่อไปนี้ห้ามนำเข้าห้องจัดแสดง กระเป๋าขนาดใหญ่, กล้องถ่ายภาพ (Compact, SLR, DSLR, Mirrorless, Action) ไม้เซลฟี่ และขาตั้งกล้อง, ร่ม, ไฟแช็กและวัตถุที่ก่อให้เกิดประกายไฟ, มีดพกและวัตถุมีคม, อาหารและเครื่องดื่ม
- กระเป๋าใบเล็กสามารถนำติดตัวเข้าไปได้ แต่ต้องผ่านการตรวจทุกใบ
- ผู้เข้าชมสามารถถ่ายภาพนิ่งได้จากกล้องมือถือ (หรือ iPad) เท่านั้น ห้ามถ่ายภาพเคลื่อนไหวทุกชนิด และงดใช้แฟลช
- ห้ามจับหรือสัมผัสตู้จัดแสดง
- ผู้เข้าชมต้องผ่านการตรวจอาวุธและพึงรับฟังคำแนะนำจากเจ้าหน้าที่
- กรุณาเข้าชมตามเส้นทางที่กำหนดไว้ ให้เกียรติสถานที่ และผู้เข้าชมท่านอื่น งดวิ่งหรือส่งเสียงรบกวน เด็กเล็กควรอยู่ในความดูแลของผู้ปกครองตลอดเวลา
- สื่อมวลชน และสื่อประชาสัมพันธ์ต่างๆ โปรดประสานการเข้าพื้นที่นิทรรศการผ่านกลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ สำนักบริหารกลาง กรมศิลปากร (โทร. ๐ ๒๒๒๔ ๒๐๕๐, ๐ ๒๒๒๒ ๓๕๖๙) เท่านั้น




ขอบคุณข้อมูล และภาพประกอบ
- https://www.facebook.com/nationalmuseumbangkok/
- กลุ่มเผยแพร่ฯ กรมศิลปากร https://www.facebook.com/prfinearts/
- http://www.finearts.go.th/
Leave a Reply